‘ความฝัน’ ที่สูญหายในระบบการศึกษา กับ School Town King

va buranakarn
Dec 19, 2020

--

ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/schooltownking

Note: สิ่งนี้อาจไม่ใช่รีวิวแต่เป็นการหวนระลึกที่นึกขึ้นมาได้จากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง School Town King โดยเบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย

เราเชื่อว่าหลายคนเคยมีความฝัน บางทีความฝันนั้นสูญสลายไปในระบบการศึกษา หรือแม้กระทั่งครอบครัว บางทีความฝันนั้นไม่เคยเกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้ถูกทำให้เข้าใจว่า ‘ความฝัน’ ต้องมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เมื่อวันก่อนเราได้คุยกับน้องคนหนึ่งซึ่งเพิ่งเรียนจบมัธยมปลายมาไม่นาน เขาก็พูดว่าโรงเรียนไม่เคยมีพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกทางตัวตน ไม่มีพื้นที่ให้ตามหาตัวตนใน ‘แบบที่เราเป็น’ เราไม่เคยได้ทดลองผิดถูก มีเพียงแต่คำตอบภาคบังคับที่โดนเลือกมาให้ เราไม่เคยมองเห็นความฝันที่เหนือไปกว่ากรอบที่เขาให้ ไม่มีความฝันที่นอกเหนือจากอนาคตแบบที่ ‘ใครสักคน’ อยากให้เป็น

อันที่จริงความฝันควรจะเป็นส่ิงที่ใครๆ ก็มีได้ แต่การศึกษาที่จำกัดกรอบเด็ก ทำให้เด็กไม่กล้าที่จะฝันหรือบางครั้งเรานึกภาพถึงส่ิงที่เหนือกว่านั้นไม่ออก สุดท้ายเราก็ต้องเข้าสู่การเรียนระดับปริญญาตรี เรียนให้จบเอาใบปริญญาให้พ่อแม่ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าใบปริญญามันทำให้ตัวเองมั่นคงตรงไหน แต่เขาบอกว่ามันเป็นอย่างนั้นก็ต้องทำ โดยเฉพาะเมื่อความสัมพันธ์ในครอบครัวบอกว่า “เรียนจบ รับปริญญาให้พ่อแม่ภูมิใจหน่อย”

School Town King ฉายภาพให้เห็นถึงการดิ้นรนต่อสู้ของเด็กสองคนที่อยู่ในระบบการศึกษาที่คาดหวังให้พวกเขาเป็นแบบที่รัฐอยากให้เป็น เป็นพลเมือง ‘ที่ดี’ มีอนาคต (ซึ่งไม่รู้ว่าของใคร) ที่มั่นคง การดิ้นรนของเด็กทั้งสองคนเป็นการดิ้นรนแบบเดียวกันกับที่เด็กในระบบการศึกษาดังกล่าวต้องเผชิญ เราไม่มีตัวตนของเรา และถ้าหากเราเป็นคนที่แตกต่างจากแบบที่เขาจัดวางให้ เราก็เป็นเพียงสินค้าที่ไม่ผ่าน QC ของโรงงานการผลิตที่ชื่อว่าโรงเรียน

เราเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ในระบบการศึกษาดังกล่าว ซึ่งเราดูเหมือเป็นสินค้าที่ผ่าน QC เพราะเราดันเป็นเด็กที่ไม่ใช่เด็กเรียน แต่เอาตัวรอดเก่งตลอด (เช่น ไม่ทำการบ้าน แต่คำนวณแล้วว่ายังไงก็เกรดโอเค จบ) แต่ในแง่หนึ่งกลายเป็นว่าจุดโฟกัสเราไม่ได้อยู่ที่ความฝัน เพราะระบบการศึกษาแบบนี้แม่งไม่ได้ให้เราฝัน มีแค่ให้เราเอาตัวรอดได้ กว่าเราจะได้ลองทำทุกอย่างจริงๆ เราก็เข้าปริญญาตรีแล้ว

เราเคยมีความฝันอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่เด็กๆ แต่เราโดนตลอดว่าเป็นนักเขียนอย่างเดียวแล้วจะมีเงินพอใช้ได้ยังไง แล้วพอเป็นเด็กเก่ง เขาก็จะคาดหวังว่าเราจะประสบความสำเร็จแบบที่เขาคาดหวัง เช่น มีเงินใช้ มีการงานที่มั่นคง มีบ้าน มีรถ แต่สิ่งที่เราต้องการแม่งไม่ใช่การงานที่มั่นคง คงอยากมีที่ทางของตัวเอง แต่คงไม่ได้จำเป็นต้องมีทุกอย่าง สิ่งที่เราต้องการคือหนังสือสักเล่มที่เรามีชื่อเป็นนักเขียนอ่ะ จริงๆ เราอยากเขียนนิยายขาย แต่เราก็ไม่ได้จินตนาการกว้างไกลขนาดนั้น เขียนได้มากสุดก็แค่เรื่องสั้น

ความฝันของเราเริ่มหล่นหายไปในระบบการศึกษาที่สอนให้เราเอาตัวรอดกันไปวันๆ แม้ว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่คิดว่ามันคือสิ่งที่มั่นคงที่สุด ก็คงใช่ส่วนหนึ่ง การศึกษาสามารถยกระดับชนชั้นได้ แต่มันจำเป็นขนาดนั้นจริงเหรอ แล้วสิ่งที่การศึกษาตัดออกไป ส่ิงที่เรียกว่า ‘ความฝัน’ และ ‘ตัวตน’ ที่หายไป มันคุ้มแล้วเหรอกับเด็กในระบบ พอเด็กไม่อยากจะอยู่ในระบบอีกต่อไป สิ่งที่พ่อแม่ทำก็ไม่ต่างกับสิ่งที่พ่อของบุ๊ค(aka. Eleven Finger หนึ่งในตัวหลักของ School Town King) บอกคือเด็ก “ยังอดทนไม่มากพอ” ทั้งๆ ที่พ่อแม่รู้ว่าระบบมันฟัคอัพแต่พวกเขาไม่ได้โทษระบบ แต่โทษที่เด็กว่ายังอดทนไม่มากพอ

คำถามคือ “เราต้องอดทนกันขนาดไหน”

ถ้าหากรากฐานในตัวตนของเราไม่มั่นคง เราจะสั่นคลอนเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อ ‘บ้าน’ ไม่มั่นคง เหมือนที่ในสารคดีก็ฉายภาพซากปรักหักพังของบ้านนนท์ (aka. Crazy Kids)อีกหนึ่งตัวละครหลัก ก่อนที่รัฐจะสร้างบ้านบล็อคที่เหมือนๆ กัน แต่สิ่งที่สูญเสียไปทำให้นนท์รู้สึกได้ว่าไม่มีอะไรมั่นคงอีก จิตใจก็ค่อยๆ เริ่มสั่นคลอนและหันกลับไปหาสิ่งที่ครอบครัวของเขาให้ความสำคัญนั่นคือ ‘การศึกษาในระบบ’ ความฝันของเขาก็สั่นคลอนลงไป

School Town King ในตอนสุดท้ายก็จบลงที่บุ๊คพูดเหมือนกับนนท์ว่าเขาก็อยากทำให้พ่อแม่ภูมิใจ แต่เขาก็มาไกลเกินกว่าจะถอยแล้ว คำถามของเรื่องในหัวของเราจบลงด้วยว่า ต่อให้ผลงานที่เราทำมีมากแค่ไหน และไปสู่สายตาคนอื่น คนได้รับการชื่นชมมากแค่ไหนก็ตาม คนที่เราอยากให้เขาเห็นค่าและภูมิใจในสิ่งที่เราทำมากที่สุดก็ยังเป็นพ่อแม่อยู่ดี แต่ทำไมพ่อแม่เองไม่สามารถภูมิใจในสิ่งที่เราเป็นและผลงานที่เราทำได้ กลับกลายเป็นว่า ความภาคภูมิใจของพ่อแม่ไปอยู่ที่ ‘เรียนให้จบปริญญา’ โดยที่ตัวเราต้องละทิ้งทุกอย่างแม้กระทั่งความมั่นคงในจิตใจของเราเอง

--

--

va buranakarn

🏳️‍🌈☭ Shitposter who's currently writing stuff about moral emotion in the youth movement using dictionary-based textual analysis. url: vaburanakarn.carrd.co